แดงหิน ๒

Syzygium helferi (Duthie) Chantar. et J. Parn.

ไม้ต้นไม่ผลัดใบ เปลือกนอกสีน้ำตาลเทา ส่วนที่ยังอ่อนเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูป ใบหอก รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปรี เส้นขอบใน ๑ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน แกนกลางและแขนงช่อดอกผิวขรุขระ เปลือกหลุดล่อนเป็น แผ่นสะเก็ดขนาดเล็ก กลีบดอกแต่ละกลีบมีต่อม ๑๕๐-๒๐๐ ต่อม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรง กระบอก รูปทรงกรวย หรือทรงรูปไข่กว้าง สุกสีดำ มีเมล็ดน้อย


     แดงหินชนิดนี้เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๕ ม. เรือนยอดกลม แน่นทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลเทา เปลือกใน สีน้ำตาล กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ส่วนที่ยังอ่อนเกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๒.๒-๔.๖ ซม. ยาว ๕.๖- ๑๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มหรือมนขอบเรียบ หรือหยักมนตื้น ผิวใบด้านล่างมีนวล มีจุดต่อมโปร่งแสงขนาดเล็กกระจายทั่วแผ่นใบ แผ่นใบค่อนข้างหนาและ เหนียวคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๖ เส้น เส้นขอบใน ๑ เส้น ก้านใบยาว ๔.๒-๑๑.๒ มม. เกลี้ยง

 

 

 


     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลาย กิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๖ ซม. ก้าน ช่อดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. แกนกลางและแขนงช่อดอก ผิวขรุขระ เปลือกหลุดล่อนเป็นแผ่นสะเก็ดขนาดเล็ก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ดอกด้านข้างมีก้านดอกยาว ๑.๑-๔ มม. ดอกที่อยู่ตรงกลางไร้ก้าน ฐานดอกรูปกรวย

 


ยาว ๕.๗-๗.๗ มม. ก้านดอกเทียมยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบ เลี้ยง ๔ กลีบ รูปครึ่งวงกลม ยาว ๑.๒-๒.๑ มม. ขอบ กลีบบางใส กลีบดอก ๔ กลีบ รูปเกือบกลม ยาว ๔.๗-๕ มม. บางคล้ายเยื่อ แต่ละกลีบมีต่อม ๑๕๐-๒๐๐ ต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรที่อยู่รอบนอกยาว ๘.๑-๘.๗ มม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูรูปขอบขนานแกม รูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๖ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑๑-๑๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาว ๑.๑-๑.๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรง กระบอก รูปทรงกรวย หรือทรงรูปไข่กว้าง ยาว ๘-๙ มม. สีเขียว สุกสีดำ มีเมล็ดน้อย
     แดงหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศ ไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบ ชื้น และป่าดิบเขาระดับต่ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเล ถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึง กุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่าง ประเทศพบที่ศรีลังกา เมียนมา และมาเลเซีย.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดงหิน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium helferi (Duthie) Chantar. et J. Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
helferi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Duthie)
- Chantar. et J. Parn.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Duthie) ช่วงเวลาคือ (1845-1922)
- Chantar. ช่วงเวลาคือ (1955-)
- J. Parn. ช่วงเวลาคือ (1954-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.